เช็คเงินสด คืออะไร ใช้งานแบบไหนให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

เรื่องเงินเรื่องทองเป็นของไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นทุกการทำธุรกรรมจึงต้องมั่นใจว่าจะสร้างความปลอดภัยให้กับทั้ง 2 ฝ่ายมากที่สุด “เช็คเงินสด” จึงเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในการทำจ่ายเงิน จึงขอพาทุกคนมาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ละเอียด พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

เช็คเงินสด คืออะไร

เช็คเงินสด คือ เอกสารประเภทหนึ่งในรูปแบบของ “เช็ค” ที่ผู้สั่งจ่ายได้สั่งให้ทางสถาบันการเงินใช้เงินบางส่วนเพื่อจ่ายให้กับอีกฝ่ายหากมีการทวงถาม หรือคำสั่งจากผู้รับเงิน โดยจะมีคำว่า “เงินสด” ระบุเอาไว้แทนชื่อตัวผู้รับเงิน ภายใต้เงื่อนไขว่าเช็คที่สั่งจ่ายเป็นเงินสดนี้ ผู้สั่งจ่ายต้องมีการเปิดบัญชีกระแสรายวันเอาไว้กับสถาบันการเงินที่ตนเองออกเช็คด้วยเพื่อเวลาเกิดการสั่งจ่ายขึ้น เงินในบัญชีดังกล่าวจะถูกใช้งาน นั่นเท่ากับว่าใครที่ถือเช็คดังกล่าวอยู่สามารถนำไปขอเบิกเงินสดกับทางธนาคารได้เลย แม้เป็นการเก็บได้หรือไม่ใช่ของตนเองก็ตาม

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจเคยเจอกับคำว่า “เช็คเด้ง” กันมาบ้าง กรณีนี้มีสาเหตุสำคัญจากการที่เมื่อผู้ถือเช็คเงินสดนำเช็คไปขึ้นเงินกับทางสถาบันการเงินแล้วปรากฏเงินในบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายไม่เพียงพอกับจำนวนเงินที่ระบุเอาไว้บนหน้าเช็ค จึงไม่สามารถเบิกเงินออกมาได้นั่นเอง

เงื่อนไขของการใช้เช็คเงินสดอย่างถูกต้องและปลอดภัย

เพื่อให้การสั่งจ่ายของคุณไม่มีปัญหาจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขเบื้องต้นของการใช้งานเช็คเงินสด พร้อมทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สั่งจ่ายเองอีกด้วย

  • ติดต่อกับสถาบันการเงินที่ตนเองเปิดบัญชีกระแสรายวันสำหรับการทำเช็คเงินสด เขียนข้อมูลสั่งจ่ายให้ถูกต้องเพื่อป้องกันการเป็นโมฆะ
  • ช่องการใส่ตัวเลขที่เป็นจำนวนเงินควรระบุสกุลเงินเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษที่เข้าใจได้ให้ชัดเจนติดกับเลขสุดท้าย เช่น ฿ และควรใช้เครื่องหมาย = เขียนติดกับเลขตัวหน้าสุด เพื่อป้องกันการเติมเลขเข้าไปเพิ่มเติม เช่น =50,000฿
  • ปากกาที่ใช้ควรเป็นหมึกดำหรือน้ำเงินเข้มเท่านั้น อย่าใช้หมึกซึม หมึกสะท้อนแสง หรือดินสอเด็ดขาด ป้องกันการปลอมแปลงเอกสารที่อาจเกิดขึ้น
  • อย่ามีการลบคำเขียนผิดบนหน้าเช็คเด็ดขาด หากต้องแก้ไขให้ขีดฆ่าแล้วเซ็นชื่อกำกับ พร้อมเขียนใหม่ โดยใช้ปากกาอันเดิม แต่ทางที่ดีไม่ควรเขียนผิด
  • กรณีมีการสั่งจ่ายในนามนิติบุคคลแล้วประทับตราสัญลักษณ์ การทำตราสี หรือตรานูนใด ๆ ก็ตามมักส่งผลให้การทำจ่ายเช็คเงินสดล่าช้าออกไป เนื่องจากสถาบันการเงินต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง
  • อย่าลืมเตรียมเงินในบัญชีกระแสรายวันของตนเองให้พร้อมก่อนวันที่สั่งจ่ายชำระเงิน เพราะหากผู้รับเงินไปขอขึ้นเงินแล้วเกิดปัญหา “เช็คเด้ง” ทางผู้สั่งจ่ายอาจต้องเสียค่าปรับนั่นเอง

 

ข้อดีของการใช้งานเช็คเงินสด

  • มีความสะดวกและปลอดภัยมากกว่าการพกเงินสดจำนวนมากทั้งตัวของผู้สั่งจ่ายและผู้รับเงิน
  • ลดความเสี่ยงต่อการทุจริต เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลและรายการสั่งจ่ายต่าง ๆ ย้อนหลังได้
  • ช่วยธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการเงินสดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีข้อมูลชัดเจน

 

ข้อควรระวังเมื่อใช้งานเช็คเงินสด

ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับเงินก็ตาม ก็มีข้อควรระวังที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องของการใช้งานเช็คเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงต่อข้อผิดพลาที่อาจเกิดขึ้นจนถึงขั้นนำไปสู่การสูญเงินจำนวนมากเลยทีเดียว

  • ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนเช็คให้ครบ ตั้งแต่วันที่ทำจ่าย, จำนวนเงินตัวเลขกับตัวอักษรตรงกัน, ลายมือบนเช็คเป็นลายมือเดียวทั้งหมด, การลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายถูกต้อง
  • ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่เช็คกับทางธนาคาร ป้องกันปัญหาการโดนเช็คปลอม
  • เมื่อผู้รับเงินได้เช็คมาแล้วควรรีบนำไปขึ้นเงินทันที หรือกรณียังไม่สะดวกต้องเก็บไว้ให้เรียบร้อย อย่าทำหล่นหายเป็นอันขาด
  • ปกติแล้วเช็คเงินสดมีอายุ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันระบุการสั่งจ่ายบนหน้าเช็ค

นี่คือข้อมูลที่น่าสนใจของเช็คเงินสดที่ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็สามารถสั่งจ่ายด้วยวิธีดังกล่าวได้ แต่ต้องอย่าลืมเรื่องความปลอดภัย และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการใช้งานอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำธุรกรรมอย่างสบายใจ ไม่มีปัญหาอื่นตามมาภายหลัง